วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

control panel windows 7

Windows Search

ตอนที่แล้วที่กล่าวถึง Windows Explorer ผมจงใจข้ามประเด็นเรื่อง Search ไป เพราะมันค่อนข้างยาวและเป็นฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ ไม่จำกัดเฉพาะแต่ใน Windows Explorer เพียงอย่างเดียว
อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ฟีเจอร์การค้นหาถูกเพิ่มเข้ามาใน Vista แต่มันยังใช้งานได้ไม่ค่อยดีนัก พอข้ามรุ่นมาเป็น Windows 7 ก็มีการปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ แต่มีประโยชน์อีกหลายอย่าง
search-help1
ช่องค้นหาที่มุมขวาบนของ Windows Explorer แสดงรายการคำค้น 3 คำล่าสุด ส่วนกรอบที่อยู่ด้านล่างคือตัวช่วย filter ตามเงื่อนไขต่างๆ
search-help2
ตัวอย่างการใช้ kind: ระบุประเภทของเนื้อหา
search-help3
ตัวอย่างการใช้ type: ระบุนามสกุลของไฟล์ แน่นอนว่าใช้ร่วมกับ filter ตัวอื่นๆ ได้
filter พวกนี้สามารถใช้กับช่องค้นหาใน Start Menu ได้ด้วย แต่ต้องจำ syntax แล้วไปพิมพ์เองครับ ไม่มีเป็นรายการให้เลือกเหมือนใน Windows Explorer

Federated Search

อันนี้เป็นฟีเจอร์ใหม่อีกอันของ Windows 7 ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก ผมรู้ก็เพราะไปงาน Windows 7 Blogger รอบแรก (วงปิด) ที่ทีมของไมโครซอฟท์ประเทศไทยโชว์ให้ดู
ฟีเจอร์นี้จะคล้ายๆ Sherlock ของ Mac OS Classic คือค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (บนแมคเคยมีโปรแกรมที่ชื่อ Sherlock สำหรับทำงานนี้เลย) ส่วน Federated Search ของ Windows 7 ต้องใช้งานผ่าน Windows Explorer
การใช้งานต้องติดตั้งปลั๊กอินสำหรับค้นหา ซึ่งไมโครซอฟท์เรียกว่า Search Connector เท่าที่ผมมีข้อมูลตอนนี้ ยังไม่มีเว็บศูนย์กลางสำหรับรวบรวม Search Connector ให้ดาวน์โหลด ต้องใช้วิธีค้นจาก search engine กันเอง
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มี Search Connector ให้ดาวน์โหลด
การใช้งานก็ไม่ยากอะไรครับ สั่งดาวน์โหลดตัว Search Connector ที่ต้องการ เราจะได้ไฟล์ .osdx ซึ่งข้างในมันเป็น XML ที่เขียนตามข้อกำหนด OpenSearch แบบเดียวกับปลั๊กอินค้นหาของ Firefox เมื่อดับเบิลคลิกและติดตั้งแล้ว มันจะไปโผล่อยู่ในหมวด Favorites ตรงกรอบด้านซ้ายมือของ Windows Explorer
ผมลองเล่นให้ดู 2 ตัว
federated-search
ตัวแรกคือ Twitter โดยใช้บัญชี @blognone จะเห็นว่า Federated Search มองเห็นผลการค้นหาเป็นไฟล์ .html
federated-search-flickr
ตัวที่สองคือ Flickr ลองค้นภาพอาหารการกินที่ผมเคยถ่ายเอาไว้ ความเจ๋งอยู่ที่มันมองภาพเป็นไฟล์ สามารถลากเพื่อก็อปปี้มายังเครื่องของเราได้ทันที (น่าจะนึกออกกันว่าใช้กับ Google Image Search หรือ Bing Image Search ได้ในลักษณะเดียวกัน)
ฟีเจอร์ Federated Search ดูเหมือนเป็นฟีเจอร์เอาไว้เล่นสนุกๆ ไม่มีประโยชน์มากนัก แต่แท้จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายของมันคือตลาดไอทีในองค์กรครับ ไมโครซอฟท์มี [Microsoft Search Server](http://www.microsoft.com/enterprisesearch/en/us/search-s nverver-express.aspx) ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก รวมอยู่ในชุดของ SharePoint ถ้าระบบสำนักงานใช้ SharePoint และมี Search Server ก็สามารถใช้ Federated Search ค้นหาไฟล์เอกสารต่างๆ ข้ามเครื่องกันภายในองค์กรได้สบาย

Control Panel

control-panel
ข้ามมาที่ฟีเจอร์คู่บุญของวินโดวส์อย่าง Control Panel กันบ้าง ช่วงหลังๆ (ถ้าจำไม่ผิดตั้งแต่ XP) ไมโครซอฟท์หันมาเรียงตัวเลือกใน Control Panel ตามหมวดหมู่ ผลที่ตามมาคือ "หาอะไรไม่ค่อยเจอ" ซึ่ง Windows 7 ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกันสักเท่าไร
control-panel-small-icon
หลายคนแก้ปัญหาโดยการปรับให้มันแสดงแบบไอคอน แต่หลังๆ นี่คงไม่ไหวแล้วมั้ง ตอนนี้ Control Panel ของ Windows 7 มีตัวเลือกเกือบ 50 อัน เรียงยังไงก็คงดูยาก
control-panel-search
ทางแก้คือ search มันเลยครับ เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาแล้ว หาอะไรก็เจอ จากภาพจะเห็นว่าผลการค้นหาไม่ได้แสดงเฉพาะไอคอน แต่แสดงตัวเลือกที่อยู่ในไอคอนแต่ละอันของ Control Panel ให้ด้วย
ฟีเจอร์นี้คู่แข่งอย่าง Mac OS X ทำได้ใน 10.4 Tiger พร้อมกับฟีเจอร์ Spotlight ฝั่งวินโดวส์เริ่มทำได้ตอน Vista ตอนแรกยังไม่สมบูรณ์ทั้งคู่ (ค้นไม่ค่อยเจอ, ช้า) แต่ตอนนี้เข้าสู่สถานะที่ใช้งานได้จริงแล้ว
Control Panel ของ Windows 7 เพิ่มตัวเลือกใหม่ๆ ให้อีกหลายอัน เช่น Location and Other Sensors, Credential Manager, Biometric Devices ซึ่งผมคงไม่กล่าวถึงในรีวิวชุดนี้

UAC

ตอนนี้เราจะเริ่มลงลึกเข้ามายังตัวเลือกที่น่าสนใจบางอันใน Control Panel ซึ่งอย่างแรกคงไม่มีอื่นใดนอกจากฟีเจอร์ที่มีคนชังมากที่สุดของ Vista
UAC หรือ User Account Control เป็นฟีเจอร์ที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน Vista เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบ การเปลี่ยนแปลงที่กระเทือนต่อระบบจะต้องได้รับการยืนยันอีกครั้งจากคนที่มีสิทธิ์ดูแลระบบเสียก่อน (การยืนยันปกติก็ใช้ปุ่ม OK เท่านั้น) ไมโครซอฟท์ยังเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นโดยปรับหน้าจอเป็นสีดำ แล้วอนุญาตให้หน้าต่าง UAC เท่านั้นที่ทำงานได้ (ป้องกันโปรแกรม malware มาแอบคลิก)
ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นต้องแลกกับความสะดวกที่ลดลง หลังจากมี UAC ทำให้การติดตั้งโปรแกรมหรือปรับแต่งค่าต่างๆ มีขั้นตอนเพิ่มมาอีกขั้น ผู้ที่คุ้นเคยกับวินโดวส์รุ่นก่อนๆ จึงรู้สึกรำคาญ UAC และกลายเป็นความเกลียดไปในที่สุด หลายคนถึงกับปิด UAC ใน Vista ทิ้งไปเลย
โดยส่วนตัวผมไม่มีปัญหาอะไรกับแนวคิดแบบ UAC เพราะเป็นแนวคิดที่มีบนลินุกซ์และแมคมานานแล้ว และสุดท้ายถ้าเรายังยึดแนวทางการออกแบบระบบปฏิบัติการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจาก UAC (หรือเราจะกลับไปใช้วินโดวส์จอฟ้า ความปลอดภัยต่ำกันอีก?)
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ก็รับฟังปัญหาจากผู้ใช้ (ไม่ฟังก็คงจะยากเพราะ UAC เป็น "คำบ่น" อันดับต้นๆ ของ Vista) และปรับปรุงให้ UAC น่ารำคาญน้อยลง อันไหนไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ต้องมี ผมคงไม่ลงรายละเอียด แต่ถ้าใครสนใจเรื่อง UAC ของ Windows 7 อ่านได้จากบล็อก Engineering Windows 7 สามตอน: User Account Control, UAC Feedback and Follow-Up และ Update on UAC
uac
ส่วนของการตั้งค่า UAC ใน Control Panel ถูกปรับลดลงมาให้เรียบง่าย เหลือเพียง 4 ระดับ
  • Always notify - ขึ้นเตือนเมื่อติดตั้งโปรแกรม และปรับแต่ง Windows
  • Default - ขึ้นเตือนเฉพาะติดตั้งโปรแกรม ปรับแต่งไม่เตือน
  • Default, not dim - เหมือนอันที่สอง แต่ไม่ต้องทำหน้าจอดำและบังคับคลิกเฉพาะ UAC
  • Never notify - ปิด UAC ทิ้งไปเลย
หน้าจอตัวเลือก UAC แบบนี้เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตามมีคนพบช่องโหว่ด้านความปลอดภัยของหน้าจอแบบนี้ ปฏิกิริยาจากไมโครซอฟท์คือยังจะคงหน้าจอแบบนี้ไว้ ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง (รายละเอียดอ่านได้ใน Ars Technica)
บทความเรื่อง UAC อีกอันที่น่าสนใจคือของ Neowin

ClearType Text Tuner

ClearType เป็นเทคโนโลยีการแสดงผลฟอนต์บนจอ LCD ที่บิล เกตส์ เป็นคนเปิดตัวด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 1998 มันถูกใช้ครั้งแรกใน Windows XP แต่ปิดไว้เป็น default จนกระทั่ง Vista ออกถึงได้เปิดใช้เป็น default
cleartype-compare
จากภาพเป็นหน้าจอเปรียบเทียบเวลาใช้ ClearType (บน) กับไม่ใช้ (ล่าง) แบบใช้แล้วดูดีกว่าเห็นๆ แต่ก็เป็นไปได้ว่ามีคนไม่ชอบ ใน Windows 7 ได้เพิ่ม ClearType Text Tuner เข้ามาให้ใน Control Panel ใครสนใจก็ไปลองเล่นกันเองได้
อ่านเรื่อง ClearType ใน Windows 7 เพิ่มได้จาก Engineering Changes to ClearType in Windows 7

Windows Features

อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ของ Windows 7 ครับ หลายๆ คนน่าจะจำหน้าจอ Add/Remove Programs ได้ว่ามันจะมีหน้าจอย่อยสำหรับปรับแต่งองค์ประกอบของวินโดวส์ (เช่น เกม หรือ Accessories) ใน Vista มันถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Windows Features แต่หน้าที่ยังเหมือนเดิม
windows-feature
ใน Windows 7 หน้าจอนี้ยังคงเหมือนเดิม สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือเราสามารถ "ปิด" ส่วนประกอบของวินโดวส์ได้มากขึ้น ข้อมูลจาก Engineering Windows 7 บอกว่าของใหม่ที่สามารถ "ปิด" ได้มีดังนี้
  • Windows Media Player
  • Windows Media Center
  • Windows DVD Maker
  • Internet Explorer 8
  • Windows Search
  • Handwriting Recognition (through the Tablet PC Components option)
  • Windows Gadget Platform
  • Fax and Scan
  • XPS Viewer and Services (including the Virtual Print Driver)
ใช่ครับ เราสามารถ "ปิด" IE8 ออกไปจาก Windows 7 ได้แล้ว (ผมไม่ได้ลองปิด ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงเหมือนกันแฮะ)

Windows Action Center

ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยชิ้นสำคัญที่ถูกใส่เข้ามาใน Windows XP SP2 (ซึ่งถือเป็นวินโดวส์ที่ "ปลอดภัยพอ" รุ่นแรก) คือ Windows Security Center ซึ่งหน้าที่หลักๆ ของมันคือ บอกว่าเราไม่ได้ลงแอนตี้ไวรัส ช่วยเราควบคุม Windows Firewall และ Windows Update
พอมาถึง Vista ไมโครซอฟท์ปรับโฉมหน้าตาให้มันเป็น Aero และเพิ่มฟีเจอร์ด้านป้องกันมัลแวร์เข้ามาให้ (รวมเข้ามาจาก Windows Defender) แต่แนวคิดหลักไม่มีอะไรเปลี่ยน
ใน Windows 7 ไมโครซอฟท์ขยายขอบเขตความรับผิดชอบของมันออกไป จากที่เคยดูแลเฉพาะด้านความปลอดภัย ก็รวมเรื่องการแก้ปัญหาทางเทคนิคอื่นๆ ของคอมพิวเตอร์ เช่น ไดรเวอร์ของฮาร์ดแวร์ และการแบ็คอัพ เข้ามาด้วย ชื่อของมันเลยเปลี่ยนเป็น Windows Action Center
action-center-icon
ไอคอนของ Windows Action Center เป็นรูปธงสีขาว ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในระบบจะแสดงรูปกากบาทสีแดงประกอบให้เห็น
windows-action-center
เมื่อคลิกที่ไอคอนจะแสดงหน้าต่างของ Windows Action Center ดังภาพ จะเห็นว่ามันถูกแบ่งเป็นส่วน Security กับ Maintenance และใช้โค้ดสีบ่งบอกถึงความร้ายแรงของปัญหา
คำเตือนให้ลงโปรแกรมแอนตี้ไวรัสยังมีอยู่เช่นเดิม (เมื่อกดปุ่มแล้วจะเข้าไปยังหน้า Windows 7 consumer security software providers) ส่วนคำเตือนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์ มักเป็นเรื่องไดรเวอร์ ซึ่งมันจะขึ้นเตือนเวลามีฮาร์ดแวร์ใหม่แต่หาไดรเวอร์ไม่พบ หรือพบไดรเวอร์เวอร์ชันใหม่ (เรื่องไดรเวอร์และฮาร์ดแวร์ ผมจะเขียนถึงในตอนถัดๆ ไป) ไมโครซอฟท์เลือกใช้คำว่า "solution" สำหรับข้อความชนิดนี้
action-center-msg
ภาพข้างบนเป็นตัวอย่างข้อความใน Action Center กรณีของผมเป็นข้อความเตือนว่ามีไดรเวอร์สำหรับระบบจัดการพลังงานของ Lenovo ซึ่งกดที่ลิงก์แล้วจะดาวน์โหลดไฟล์ได้ทันที
โดยสรุปแล้ว Windows Action Center ถือเป็นพัฒนาการที่ดี แต่ความรู้สึกในการใช้งานจริงคงไม่ต่างไปจาก Windows Security Center ที่มีอยู่เดิมสักเท่าไร

Win+P

ฟีเจอร์เล็กๆ แต่เป็นหนึ่งใน "killer feature" ของ Windows 7 เลยครับ เมื่อกดปุ่ม Win+P จะเห็นตัวเลือกสำหรับต่อจอนอกหรือโปรเจคเตอร์ มีให้เลือก 4 แบบ ดูภาพประกอบกันเอง
projector
จากนี้ไปไม่ต้องสนใจแล้วว่าจะต้องกด Fn+F4, Fn+F5 หรือปุ่มพิสดารอื่นๆ ถ้าเครื่องนั้นเป็น Windows 7 ก็จำปุ่ม Win+P ปุ่มเดียวพอ

BitLocker to Go

หมายเหตุ: ฟีเจอร์นี้มีใน Windows 7 Enterprise ขึ้นไปเท่านั้น
ใน Vista รุ่น Enterprise ขึ้นไป มีฟีเจอร์อันหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน นั่นคือ BitLocker หรือการเข้ารหัสไดร์ว สาเหตุอาจเป็นเพราะ BitLocker มีข้อจำกัดเยอะ ใน Vista รุ่น RTM สามารถเข้ารหัสได้เฉพาะไดร์วที่ลงวินโดวส์เอาไว้เท่านั้น พอใน Vista SP1 ถึงเพิ่มความสามารถในการเข้ารหัสไดร์วอื่นๆ ได้ด้วย แต่ก็ยังจำกัดว่าต้องเป็นฮาร์ดดิสก์อยู่ดี
ใน Windows 7 ฟีเจอร์ BitLocker ก็ยังอยู่เหมือนเดิมไม่หายไปไหน แต่ไมโครซอฟท์ได้ขยับขยายฟีเจอร์ BitLocker ไปยัง USB drive (จะเรียกว่า "แฟลชไดร์ว" หรือ"ธัมบ์ไดร์ว" ก็แล้วแต่ถนัด) ซึ่งมีประโยชน์กว่ากันเยอะ ฟีเจอร์นี้มีชื่อเรียกว่า BitLocker to Go
จุดประสงค์การใช้งานก็ตรงไปตรงมาครับ เข้ารหัส USB drive เพื่อรักษาความลับของข้อมูลในกรณีที่อาจทำหาย (เผื่อจะมีเอกสารลับด้านความมั่นคงของชาติหรือคลิปลับอยู่ในนั้น)
ขั้นตอนการใช้งานก็ไม่ยุ่งยาก เสียบ USB drive เข้ากับเครื่อง คลิกขวาที่ไดร์วแล้วเลือก BitLocker to Go
bitlocker-togo
ถ้าเป็นครั้งแรกที่ใช้ BitLocker to Go จะพบกับหน้าจอข้างต้น เราต้องระบุว่าจะใช้วิธีตรวจสอบตัวตนอย่างไร ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครใช้ smart card ก็เลือกเป็นรหัสผ่านไปตามปกติ
ถ้าเลือกรหัสผ่าน BitLocker จะสร้าง recovery key ขึ้นมาให้เราหนึ่งชุด (เป็น .txt ธรรมดา ในนั้นมี key และคำอธิบายอยู่) เราต้องเลือกเซฟหรือพิมพ์เก็บไว้เสียก่อน BitLocker จึงจะอนุญาตให้เราเดินหน้าต่อไป
bitlocker-togo-encrypt
ขั้นถัดไป ปล่อยให้ BitLocker เข้ารหัสไดร์วสักครู่
bitlocker-togo-icon
จากนั้นเวลาเอา USB drive ไปเสียบ ก็จะเห็นไอคอนกุญแจดังภาพ (ซ้ายคือยังไม่ได้ปลดล็อค ขวาคือปลดล็อคแล้ว)
bitlocker-togo-passwd
ถ้าเอาไปเสียบกับ Windows 7 (ไม่ว่าเครื่องไหน) จะเห็นหน้าต่างถามรหัสผ่านเพื่อใช้งาน และมีตัวเลือกให้จำเครื่องที่ไม่ต้องใช้รหัสผ่าน
bitlocker-togo-manage
บน Windows 7 เรายังสามารถบริหารจัดการ BitLocker ได้ เช่น เปลี่ยนรหัสผ่าน, เลิกใช้งาน ฯลฯ
bitlocker on windows xp
หลายคนอาจมีคำถามว่ามันเอาไปใช้บน Vista หรือ XP ได้หรือไม่ คำตอบคือใช้ได้ครับ แต่จะเป็น read-only เพราะเอาไปเสียบแล้วเราจะต้องใส่รหัสผ่านเพื่อเข้าโปรแกรม BitLocker to Go Reader (ผมไม่ได้ลองกับวินโดวส์รุ่นต่ำกว่านี้ แต่คาดว่าใช้ได้)
bitlocker on Mac
แต่ถ้าต้องการเอาไปใช้บนแมคหรือลินุกซ์ก็จอดทันที เราจะเห็นเฉพาะไฟล์ของ BitLocker to Go Reader ที่ไม่ถูกเข้ารหัสเอาไว้เท่านั้น เท่าที่ทดสอบ ไฟล์ส่วนของ BitLocker to Go กินเนื้อที่ประมาณ 5MB ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น